วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การเเสดงพื้นบ้านภาคอีสาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปของภาคอีสานเป็นที่ราบสูง มีแหล่งน้ำจากแม่น้ำโขง แบ่งตามลักษณะของสภาพความเป็นอยู่ ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน ประชาชนมีความเชื่อในทางไสยศาสตร์มีพิธีกรรมบูชาภูติผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การแสดงจึงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และสะท้อนให้เห็นถึงการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี 

การแสดงของภาคอีสานเรียกว่า เซิ้ง เป็นการแสดงที่ค่อนข้างเร็ว กระฉับกระเฉง สนุกสนาน เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งโปงลาง เซิ้งกระหยัง เซิ้งสวิง เซิ้งดึงครกดึงสาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ฟ้อนที่เป็นการแสดงคล้ายกับภาคเหนือ เช่น ฟ้อนภูไท (ผู้ไท) เป็นต้น

เซิ้งสวิง






เซิ้งสวิง

            เป็นการละเล่นพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในท้องถิ่นอำเภอยางตลาดจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นการละเล่นเพื่อ

ส่งเสริมด้านจิตใจของประชาชนในท้องถิ่น   ซึ่งมีอาชีพในการจับสัตว์น้ำ   โดยมีสวิงเป็นเครื่องมือหลัก  ในปี  พ.ศ. 2515

ท่านผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย   กรมศิลปากร    จึงได้นำท่าเซิ้งศิลปะท้องถิ่นนั้นมาปรับปรุงให้เป็นท่าที่กระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น

โดยสอดคล้องกับท่วงทำนองดนตรีที่มีลักษณะสนุกสนานร่าเริง จึงนับว่าเป็นศิลปะพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่งดงาม

แปลกตาออกไปอีกลักษณะหนึ่ง


การแต่งกาย

    ผู้ชาย          สวมเสื้อม่อฮ่อม นุ่งกางเกงขาก๊วย มีผ้าขาวม้าโพกศีรษะและสะเอว มือถือตะข้อง

    ผู้หญิง         นุ่งผ้าซิ่นพื้นบ้านอีสาน ผ้ามัดหมี่มีเชิงยาวคลุมเข่า สวมเสื้อตามลักษณะของผู้หญิงชาวภูไท คือสวมเสื้อแขนกระบอกคอปิด ผ่าอกหน้า ประดับเหรียญโลหะสีเงิน ปัจจุบันใช้กระดุมพลาสติกสีขาวแทน ขลิบชายเสื้อ คอปลายแขน และขลิบ    ผ่าอกตลอดแนวด้วยฝ้าสีติดกัน   เช่น   สีเขียวขลิบแดงหรือสวมเสื้อแขนกระบอกคอปิด ผ่าอกหน้า   ห่มสไบเฉียงทับ   ตัวเสื้อสวมสร้อยคอโลหะทำด้วยเงิน ใส่กำไลข้อมือและกำไลข้อเท้า (ลูกปัด)   ผมเกล้ามวยสูงไว้กลางศีรษะทัดดอกไม้  และ มือถือสวิง


เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง

        1. กลองยาว

        2. กลองเต๊ะ

        3. แคน

        4. ฆ้องโหม่ง

        5. กั๊บแก๊บ

        6. ฉิ่ง

        7. ฉาบ

        8. กรับ

ฟ้อนภูไท




      ฟ้อนภูไท
ภูไท หรือผู้ไท  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่รองลงมาจากไทยและลาว  ตามตัวเลขที่มีปรากฏรำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพวกผู้ไทอยู่ประมาณสองแสนคน  กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขงและเทือกเขาภูพาน  ได้แก่ จังหวัดนครพนม  สกลนคร  เลย  และกาฬสินธุ์

                 ผู้ไทเป็นคนที่ทำงานขยันขันแข็ง  มัธยัสถ์ และโดยทั่วไปแล้วเจริญก้าวหน้ามากกว่าพวกไทย-ลาวที่อยู่ใกล้เคียง  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พัฒนาได้เร็ว  นอกจากนี้ยังปรากฏว่าชาวผู้ไทยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมของตนไว้ได้มากกว่าชนกลุ่มอื่นๆ  คนผู้ไทนั้นเป็นชาติพันธุ์ที่มีหน้าตาสวยงาม  ผิวพรรณดี  กิริยามารยาทแช่มช้อย  มีอัธยาศัยไมตรีดีด้วย

                 การฟ้อนภูไทนี้ เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวผู้ไท  เดิมที่นั้นการร่ายรำแบบนี้เป็นการร่ายรำเพื่อถวายพระธาตุเชิงชุมแต่อย่างเดียว  ต่อมาได้ใช้ในงานแสดงในงานสนุกสนาน รื่นเริงต่างๆด้วย

การแต่งกาย
          ชายนุ่งกางเกง  ใส่เสื้อคอกลม  มีผ้าขาวม้าคาดพุง  และมีผ้าพันศีรษะ  เป็นผู้เล่นดนตรีประกอบการฟ้อน  หญิงแต่งตัวแบบพื้นเมืองเดิม  เกล้ามวยผม  ใส่เล็บยาว  ผูกแถบผ้าสีแดงบนมวยที่เกล้าไว้


ดนตรี
          เครื่องดนตรีประกอบที่ใช้ในการเล่น  ประกอบด้วย กลองสั้น  กลองยาว  ตะโพน  ม้าล่อรำมะนา  แคน  ฉิ่ง  ฉาบ

เซิ้งกระติบข้าว

    




       เซิ้งกระติบข้าว เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว เซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิมเซิ้งอีสานจริงๆ ไม่มีท่าทางอะไร มีแต่กินเหล้ายกมือไม้สะเปะสะปะให้เข้ากับจังหวะเสียงกลองไปตามใจ (มีผู้นิยามว่า ฟ้อนตามแบบกรมสรรพสามิต) โดยไม่ได้คำนึงถึงความสวยงาม นอกจากให้เข้าจังหวะกลอง ตบมือไปตามเรื่องตามฤทธิ์เหล้าในราว พ.ศ. 2507 สมเด็จพระบรมราชินีนาถต้องการการแสดงของภาคอีสาน เพื่อต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าอะเลียนา และเจ้าหญิงบีทริกซ์ แห่งประเทศเนเธอแลนด์ จึงมีการนำเอาเพลงอีสานคือ หมอลำจังหวะช้าเร็ว โดยมีท่าถวายบังคม ท่านกบิน ท่าเดิน ท่าดูดาว ท่าม้วนตัว ท่าสนุกสนาน ท่าปั้นข้าวเหนียว ท่าโปรยดอกไม้ ท่าบังแสงอาทิตย์ ท่าเตี้ย (รำเตี้ย) และในการแต่งกายครั้งแรกนั้นจะนุ่งผ้าซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง แต่ไม่มีใครยอมห้อยกระติบข้าวเพราะเห็นว่ารุงรัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตร พระองค์จึงรับสั่งให้ใครสักคนหนึ่งลองรำดูว่า ถ้าไม่ห้อยกระติบข้าว หรือห้อยกระติบข้าวแล้วจะเป็นอย่างไร ? คุณหญิงเบญจวรรณ อรวรรณ เป็นผู้ทดลองรำดู ครั้งแรกไม่ห้อยกระติบข้าวก็น่ารักดี ครั้งที่สองรำโดยห้อยกระติบข้าวทุกคนก็คิดว่ากำลังน่ารัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งคำเดียวว่า "น่าเอ็นดูดีนี่" ผู้รำทุกคนก็พากันรีบห้อยกระติบข้าวกันใหญ่ทางไหล่ขวาทุกคน การเซิ้งครั้งนั้น ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เรียกชื่อว่า "เซิ้งอีสาน" ต่อมามีผู้นำเซิ้งอีสานไปแสดงกันทั่วไปแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "เซิ้งกระติบข้าว"เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลมสีพื้น นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ห่มผ้าสไบเฉียง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ห้อยกระติบข้าวทางไหล่ขวาเครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ทำนองเซิ้งอุปกรณ์การแสดง กระติบข้าว 


    อุปกรณ์การแสดง
กระติบข้าว หรือภาษาอีสานบางแห่งเรียกว่าก่องข้าว เป็นภาชนะใช้สำหรับใส่ข้าวเหนียว ที่ทรงคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในกระติบหรือก่องข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ (ต่างจากกระติกน้ำแข็งที่เก็บความร้อนได้แต่ไม่ยอมให้ไอน้ำระเหยออก ข้าวเหนียวจึงเปียกแฉะ)
    ภูมิปัญญานี้มีเคล็ดลับอยู่ที่การสานกระติบเป็นสองชั้น ชั้นในสุดจะสานด้วยตอกให้มีตาห่างเล็กน้อย เพื่อให้ไอน้ำระเหยออกจากข้าวผ่านช่องว่างภายในกระติบข้าวชั้นในได้ ในขณะที่ชั้นนอกสุดจะสานด้วยตอกที่มีความชิดแน่นหนากว่าเพื่อเก็บกักความร้อนไว้ ไอน้ำที่มีความร้อนอยู่ภายในช่องว่างนี้ จะช่วยทำให้ข้าวเหนียวที่อยู่ภายในกระติบข้าว ยังคงความร้อนได้อีกนาน โดยเมล็ดข้าวจะไม่มีไอน้ำเกาะ จึงไม่แฉะเหมือนกับการบรรจุในภาชนะพลาสติกยุคใหม่ ฝาปิดและตัวกระติบ จะมีลักษณะที่เหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดที่ต่างกันเล็กน้อยให้สามารถสวมใส่กันได้พอดี ในส่วนตัวกระติบจะมีฐานรอง ขดเป็นวงกลม มีขนาดเล็กกว่าตัวกระติบเล็กน้อย ยึดด้วยหวายหรือไนล่อนให้ติดกับตัวกระติบ 


    การแต่งกาย
ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลมสีพื้น นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ห่มผ้าสไบเฉียง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ห้อยกระติบข้าวทางไหล่ซ้ายเฉียงไปทางขวา แต่งกายแบบพื้นเมืองภาคอีสาน นุ่งผ้าซิ่น มีเชิงยาวคลุมเข่าเล็กน้อย สวมเสื้อแขนกระบอก คอกลมหรือคอปิด ห่มสไบทับเสื้อ ประดับด้วยเครื่องประดับต่างๆ เกล้าผมมวยสูงทัดดอกไม้ 
   
    เครื่องดนตรี 
ที่ใช้ประกอบจังหวะ ได้แก่ กลองแต๊ะ กลองยาว แคน ฆ้องโหม่ง ฉิ่ง ฉาบ และกรับ 

เซิ้งโปงลาง







      เซิ้งโปงลาง

โปงลางเดิมเป็นชื่อของโปงที่แขวนอยู่ที่คอของวัวต่าง โปงทำด้วยไม้หรือโลหะ ที่เรียกว่าโปงเพราะส่วนล่างปากของมันโตหรือพองออก ในสมัยโบราณชาวอีสานเวลาเดินทางไปค้าขายยังต่างแดน โดยใช้บรรทุกสินค้าบนหลังวัว ยกเว้นวัวต่างเพราะเป็นวัวที่ใช้นำหน้าขบวนผูกโปงลางไว้ตรงกลางส่วนบนของต่าง เวลาเดินจะเอียงซ้ายทีขวาทีสลับกันไป ทำให้เกิดเสียงดัง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกให้ทราบว่าหัวหน้าขบวนอยู่ที่ใด และกำลังมุ่งหน้าไปทางไหนเพื่อป้องกันมิให้หลงทางส่วนระนาดโปงลางที่ใช้เป็นดนตรีปัจจุบันนี้ พบมากที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกว่า "ขอลอ" หรือ "เกาะลอ" ดังเพลงล้อสำหรับเด็กว่า "หัวโปก กระโหลกแขวนคอ ตีขอลอดังไปหม่องๆ" ชื่อ "ขอลอ" ไม่ค่อยไพเราะจึงมีคนตั้งชื่อใหม่ว่า "โปงลาง" และนิยมเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน ไม้ที่นำมาทำเป็นโปงลางที่นิยมกันได้แก่ ไม้มะหาด และไม้หมากเหลื่อม 


    เครื่องแต่งกาย 
ใช้ผู้แสดงหญิงล้วนสวมเสื้อแขนกระบอกสีพื้น นุ่งผ้ามัดหมี่ใช้ผ้าสไบเฉียงไหล่ ผูกโบว์ตรงเอว ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ 

     เครื่องดนตรี
การเล่นทำนองดนตรีของโปงลางจะใช้ลายเดียวกันกับ แคน และพิณ ลายที่นิยมนำมาจัดท่าประกอบการฟ้อน เช่น ลายลมพัดพร้าว ลายช้างขึ้นภู ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายนกไซบินข้ามทุ่ง ลายแมงภู่ตอมดอก ลายกาเต้นก้อน เป็นต้น 


เซิ้งตังหวาย






 เซิ้งตังหวาย 

เป็นการรำเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในพิธีขอขมาของชาวจังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังนิยมแสดงในงานนักขัตฤษ์และต้อนรับแขกผู้มีเกียรติของภาคอีสาน ครูนาฏศิลป์พื้นเมือง วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด กรมศิลปากร ได้ประยุกต์และจัดกระบวนรำขึ้นใหม่ รวม 12 ท่า จากท่ารำแม่บทอีสาน

การแต่งกาย ห่มผ้ายมีดอก นุ่งซิ่นฝ้ายมัดหมี่มีเชิง เกล้าผมสูง

เครื่องดนตรี พื้นเมืองที่ใช้บรรเลงประกอบ คือ โปงลาง แคน พิณ ซอ กั๊บแก๊บ ฉิ่ง และฉาบ



เซิ้งกระหยัง

เเเเเเ


เซิ้งกระหยัง เป็นชุดฟ้อนที่ได้แบบอย่างมาจากเซิ้งกระติบข้าว โดยเปลี่ยนจากกระติบข้าวมาเป็นกระหยัง ซึ่งเป็นภาชนะทำด้วยไม้ไผ่ มีลักษณะคล้ายกระบุงแต่มีขนาดเล็กกว่า เซิ้งกระหยังเป็นการแสดงอย่างหนึ่งของชาวกาฬสินธุ์ โดยอำเภอกุฉินารายณ์ได้ประดิษฐ์ขึ้น โดยดัดแปลงและนำเอาท่าฟ้อนจากเซิ้งอื่นๆ เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งสาละวัน ฯลฯ เข้าผสมผสานกันแล้วมาจัดกระบวนขึ้นใหม่มีอยู่ 19 ท่า ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น
ท่าไหว้ ท่าไท ท่าโปรยดอกไม้ ท่าขยับสะโพก ท่าจับคู่ถือกะหยัง ท่านั่งเกี้ยว ท่าสับหน่อไม้ ท่ายืนเกี้ยว ท่ารำส่าย ท่าเก็บผักหวาน ท่ากระหยังตั้งวง ท่าตัดหน้า ท่าสาละวัน ท่ากลองยาว ท่ารำวง ท่าชวนกลับ ท่าแยกวง ท่านั่ง ที่ได้ชื่อว่าเซิ้งกระหยังเพราะผู้ฟ้อนจะถือกระหยังเป็นส่วนประกอบในการแสดง

เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอกสีดำ หรือน้ำเงินขลิบขาว นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ ฝ่ายชายสวมเสื้อม่อฮ่อมกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว และโพกศีรษะ

เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานซึ่งประกอบด้วย กลองยาว ฉาบ และฉิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องกำกับจังหวะ ใช้แคน พิณ ปี่แอ้ เป็นเครื่องดำเนินทำนอง

อุปกรณ์การแสดง กระหยัง

เซิ้งบั้งไฟ




ประเพณีอีสานมีความสำคัญต่อชีวิตของชาวอีสาน ซึ่งมีฮีต 12 คลอง 14 เป็นหลักในการดำเนินชีวิต บุญบั้งไฟหรือบุญเดือนหกเป็นประเณีที่มีส่วนในการสร้างเสริมกำลังใจแก่ชาว บ้าน และเป็นการเตรียมพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวอีสาน จุดประสงค์ใหญ่ของการมีงานบุญบั้งไฟ ก็เพื่อขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล จะได้ใช้น้ำในการทำนา เพื่อให้พืชพันธุ์ธัญญาหารมีความอุดมสมบูรณ์ การจุดบั้งไฟโดยมีความเชื่อว่า
* การจุดบั้งไฟเพื่อบูชาพระยาแถน เพื่อบอกกล่าวให้ท่านดลบันดาลให้ฝนตกลงมาสู่โลกมนุษย์ตามนิทานพื้นบ้าน เรื่อง พญาคันคาก
* จุด บั้งไฟเพื่อบูชาอารักมเหสักข์ หลักเมือง เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล การจุดบั้งไฟทุกครั้งโดยเฉพาะในจังหวัดยโสธรจะต้องมีการบอกกล่าว หรือคารวะเจ้าพ่อมเหสักข์หลักเมืองเสียก่อน
* เพื่อเสี่ยงทาย ดินฟ้าอากาศและพืชพันธุ์ธัญญาหารว่าในปีนั้นๆ จะเป็นอย่างไร เช่น ถ้าบั้งไฟขึ้นสูงก็ทำนายว่าปีนี้ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
เครื่องแต่งกาย
1. ใช้ชุดศรัทธา คือ ใส่เสื้อย้อมคราม นุ่งโสร่งหรือผ้าถุงไหม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกระโจม แขวนกระดิ่งหรือกระพรวน ใส่หมวกกาบหรือหมวกเวิ้ง ใช้ผ้ามัดเอว สวมเล็บ บางครั้งถือร่มกระดาษ
2. ใช้ชุดพื้นเมือง คือ นุ่งผ้าซิ่นสั้น ใส่เสื้อแขนกระบอก โดยเอาชายเสื้อออกข้างนอก ห่มผ้าสไบ เกล้าผมมวยทัดดอกไม้
เครื่องดนตรี
ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานประกอบไปด้วย กลองตุ้ม พังฮาด กลองยาว รำมะนา ฆ้องเหม่ง ฉิ่ง ฉาบ กั๊บแก๊บ ซึ่งจะเล่นลายเซิ้งบั้งไฟ